วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เรื่อง การศึกษาของเด็กมาเลเซีย


            ดิฉันมีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านชอบที่จะเล่าบทความดีๆ และบทความที่เป็นประโยชน์ให้นักศึกษาทุกคนได้รับฟัง และมีอยู่บทความหนึ่งที่ดิฉันชอบมาก คงจะเป็นเรื่อง การศึกษาของเด็กมาเลเซีย
            อาจารย์เล่าให้ฟังว่า มีเพื่อนของอาจารย์อยู่คนหนึ่ง เขาได้ไปเที่ยวที่ประเทศมาเลเซีย และในระหว่างที่เขากำลังนั่งรถเมล์   อยู่นั้น เขาก็ได้สังเกตเห็นเด็กผู้ชายที่เป็นคนมาเลคนหนึ่ง เด็กคนนั้นกำลังพูดคุยอยู่กับคนขับรถเมล์ โดยเขาจะใช้ภาษามาเลในการสื่อสาร แรกๆก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก แล้วพอสักพักเด็กคนนั้นก็หันไปคุยกับเพื่อนอีก โดยจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เพื่อนของอาจารย์เริ่มสำรวจเด็กคนนี้แล้ว และก็พบว่าในมือของเขาก็กำลังถือหนังสือภาษาจีนอยู่อีกด้วย เด็กคนนั้นทำให้เพื่อนอาจารย์อึ้งไปสักพัก ไม่คิดเลยว่าเด็กมาเลเขาจะพัฒนาไปได้ไกลขนาดนี้ ซึ่งเด็กไทยของเราเทียบไม่ได้เลย
         พอดิฉันได้รับฟังเรื่องนี้ ก็รู้สึกทึ่งในความสามารถของเด็กประเทศเขาจริงๆ ไม่คิดว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรา จะไปได้ไกลขนาดนี้แล้ว ขณะที่เด็กไทยเราเอง ยังอยู่กับที่ ไม่ได้มีการพัฒนาอะไรใดๆเลย ยิ่งถ้าพูดถึงในเรื่องของภาษา เด็กไทยจะกลัวกับการเรียนภาษามาก เหมือนเวลาได้เจอกับชาวต่างชาติจริงๆ เด็กไทยมักจะไม่กล้าพูด แล้วรีบหาทางหนี เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับชาวต่างชาติ ถ้าประเทศไทยเรามีการจัดระบบการศึกษาแบบใหม่ รู้จักปลูกฝังให้เด็กรักในการที่จะเรียนรู้ภาษาแบบเด็กประเทศเขาบ้างก็คงจะดีไม่น้อยเลยทีเดียว และแนวทางในการแก้ไขปัญหาก็คือ ปรับวิธีคิด วิธีปฏิบัติของสำนักงานมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติให้เป็นการวัดประเมินที่สอดคล้องกับสภาพจริง และเป็นเพียงการประเมินเพื่อนำไปวางแผนพัฒนา (ไม่ใช่เรื่องของการนำมาให้คุณให้โทษผู้ถูกประเมิน) ที่ผ่านมาเราเน้นการวัดคุณภาพด้วยองค์กรที่จัดตั้งตามพ...การศึกษาแห่งชาติ ได้แก่ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันทดลองการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)


วันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วิดีโอแนะนำตัวเอง


หลักการถ่ายภาพทิวทัศน์

หลักการถ่ายภาพทิวทัศน์
การเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นสิ่งปราถนาและชื่นชอบของมนุษย์แทบทุกคน การท่องเที่ยวทำให้เราได้พบเห็นสิ่งต่างๆ มากมาย ความสวยงาม ความน่าอัศจรรน์ทำให้เรารู้สึกเบิกบานใจ มีความสุขสดชื่น เป็นการเติมพลังให้กับชีวิตก็ว่าได้ เมื่อมีการท่องเที่ยว กล้องถ่ายภาพก็เป็นสิ่งคู่กัน สำหรับบันทึกภาพความประทับใจในสิ่งที่ได้พบเห็น การถ่ายภาพทิวทัศน์ให้ดูสวยงาม ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อมีความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ที่เพียงพอ คุณเองก็สามารถถ่ายภาพทิวทัศน์ให้ดูสวยงามได้ดุจเดียวกับช่างภาพมืออาชีพ


 อันดับแรก มาว่ากันเรื่อง กล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์เสียก่อน กล้องถ่ายภาพทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นฟิล์มหรือดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นคอมแพคหรือ SLR หากรู้วิธีใช้งานอย่างถูกต้อง แต่มีพื้นฐานการถ่ายภาพที่ดีพอ คุณจะสามารถใช้กล้องที่มีอยู่ แต่บันทึกภาพทิวทัศน์ให้สวยงามได้ไม่ยาก แต่ขอแนะนำให้ใช้กล้อง SLR เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูง ตอบสนองความต้องการในการถ่ายภาพทิวทัศน์ได้ดีกว่ากล้องคอมแพค อาทิ มีอุปกรณ์เสริมเช่น เลนส์มุมกว้างพิเศษ ที่ช่วยให้เก็บภาพได้กว้างไกลเท่าที่ใจต้องการ หรือมีฟิลเตอร์สร้างสรรค์ภาพให้เลือกใช้หลายอย่าง เป็นต้น
การถ่ายภาพทิวทัศน์ให้ดูสวยงามไม่จำเป็นต้องใช้กล้องโปรหากเป็นกล้องฟิล์ม แต่สำหรับกล้องดิจิตอล SLR คุณภาพของไฟล์ ขนาดไฟล์ และการบันทึกรายละเอียดต่างๆ กล้องรุ่นโปรย่อมทำได้ดีกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ขนาดไฟล์ที่ใหญ่ขึ้น ทำให้ขยายภาพขนาดใหญ่ได้ดีกว่า แต่อย่าลืมว่าบรรดากล้องโปรเหล่านั้น นอกจากมีราคาสูงแล้ว ยังมีขนาดใหญ่ และน้ำหนักมาก เป็นภาระในการนำติดตัวเดินทางท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ


เลนส์ การถ่ายภาพทิวทัศน์ที่กว้างไกล ส่วนใหญ่ต้องใช้เลนส์ที่มีมุมรับภาพกว้างกว่าที่ตาของเรามองเห็น นั่นก็คือ เลนส์มุมกว้าง (ตาของมนุษย์มีมุมรับภาพเทียบเท่ากับเลนส์ขนาด 50 มม. ของกล้องฟิล์ม 35 มม. หรือกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์ฟูลเฟรม) เช่น เลนส์มุมกว้าง 24 มม., 20 มม. ยิ่งกว้างมากเท่าไหร่ก็จะให้ภาพได้กว้างไกลมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้เลนส์มุมกว้างยังมีคุณสมบัติชัดลึก ได้ภาพที่คมชัดตั้งแต่ใกล้สุดไปถึงไกลสุด ยิ่งเลนส์มุมกว้างมากขึ้นเท่าไหร่ ระยะชัดลึกก็จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ (เมื่อใช้รูรับแสงเท่ากัน) อย่างไรก็ตามเลนส์มุมกว้างจะทำให้วัตถุเหมือนอยู่ห่างไกลออกมากมากขึ้น ส่วนสิ่งที่อยู่ใกล้จะดูมีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริง พูดง่ายๆ คือ มิติของภาพต่างไปจากการมองเห็นด้วยตาเปล่า บางครั้งภาพที่ตามองเห็นว่าสวย อาจจะกลายเป็นภาพที่ไม่สวยก็เป็นได้ เพราะมิติภาพที่เปลี่ยนแปลงไป

บ่อยครั้งที่ตามองเห็นว่า ทิวทัศน์เบื้องหน้า ดูแล้วธรรมดาๆ ไม่น่าสนใจ กลับกลายเป็นภาพที่สวยงามอย่างน่าอัศจรรย์เมื่อเปลี่ยนไปใช้เลนส์มุมกว้าง หากคุณมีประสบการณ์ในการใช้เลนส์มุมกว้างมากพอ โดยเฉพาะเลนส์มุมกว้างพิเศษอย่าง 14 มม. หรือเลนส์ตาปลาที่มีมุมรับภาพกว้างมากถึง 180 องศา คุณจะค้นหามุมมองที่ดูแปลกตาและน่าสนใจได้ไม่ยาก สิ่งที่พิเศษอีกประการหนึ่งของเลนส์มุมกว้างคือ ช่วยให้เราสามารถใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาพเบลอ เช่น เลนส์ 14 มม. สามารถใช้ความ เร็วชัตเตอร์ 1/15 วินาที ถ่ายภาพให้คมชัดได้โดยไม่ต้องใช้ขาตั้งกล้อง แต่นั่นหมายถึงว่า คุณจะต้องเปิดรูรับแสงกว้างซึ่งจะทำให้ภาพที่ได้คุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร กรณีที่แสงน้อยแทนที่จะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ และถือกล้องด้วยมือ ขอแนะนำให้ใช้รูรับแสงแคบเช่น f/11 แล้วใช้ขาตั้งกล้องช่วยลดการสั่นไหว ทำให้ได้ภาพที่คมชัดและคุณภาพที่ดีกว่า แต่ถ้าได้กล้องหรือเลนส์ที่มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว คุณก็สามารถันทึกภาพได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องพกพาขาตั้งกล้องให้ลำบาก

การถ่ายภาพทิวทัศน์ ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องใช้เลนส์มุมกว้าง หากมองดูด้วยตาเปล่าแล้วเห็นว่า ทิวทัศน์นั้นสวยงาม มีมิติภาพใกล้ไกลที่ดูลง ตัวพอดี หากเป็นแบบนี้ขอแนะนำให้ใช้เลนส์มาตรฐาน 50 มม. หรือใกล้เคียง จะได้มิติภาพที่ใกล้กับการมองดูด้วยตาเปล่า แต่บ่อยครั้งที่ทิวทัศน์ดูไม่สวยเพราะมีฉากหน้าที่รกรุงรังเช่น มีต้นไม้ กิ่งไม้บดบังอยู่ หรือมีเสาไฟ สายไฟ อาคาร สิ่งก่อนสร้างอื่นๆ มีจุดที่สวยงามเพียงบางส่วนเท่านั้น กรณีเช่นนี้ จำเป็น ต้องใช้เลนส์เทเลโฟโต้ (ที่มีทางยาวโฟกัสมากกว่า 50 มม.) เพื่อเลือกถ่ายภาพเฉพาะบางส่วน ทำให้ได้ภาพที่ สวยงามได้เช่นกัน เลนส์ที่เหมาะสมคือซูม 70-200 มม. ส่วนเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมาก โอกาสใช้จะน้อยมาก เพราะมุมรับภาพที่แคบมากนั่นเอง

ขาตั้งกล้อง เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ขาตั้งกล้องที่แข็งแรงมั่นคง จะรับประกันได้ว่า ภาพถ่ายทิวทัศน์ของคุณจะคมชัดแน่นอน หากขาตั้งไม่แข็งแรงเพียงพอเมื่อเทียบกับขนาดและน้ำหนักของตัวกล้อง จะทำให้ภาพขาดความคมชัดโดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆ นอกจากนี้แม้ว่ากล้องจะอยู่บนขาตั้ง แต่การสั่นสะเทือนของกระจกสะท้อนภาพที่ดีดตัวขึ้นลงขณะกดชัตเตอร์บันทึกภาพ ก็ส่งผลให้ภาพขาดความคมชัดได้เช่นกัน จึงควรใช้ สายลั่นชัตเตอร์ ควบคู่กับการใช้ ขาตั้งกล้อง หากไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ให้ใช้ระบบตั้งเวลาบันทึกภาพอัตโนมัติ ซึ่งกล้องหลายๆ รุ่น จะเลือกหน่วงเวลาบันทึกภาพ 2 วินาทีได้ ไม่จำเป็นต้องรอนาน 10 วินาทีเหมือนกับการตั้งเวลาเพื่อบันทึกภาพตนเอง และถ้าชัตเตอร์ต่ำมากเช่น 1/2 หรือ 1 วินาที การ ล็อคกระจกสะท้อนภาพ ก็มีส่วนช่วยให้ได้ภาพที่คมชัดเช่นกัน นอกจากนี้การตั้งกล้องบนขาตั้งยังช่วยให้มีสมาธิในการถ่ายภาพมากขึ้น ไม่ต้องกังวลกับเรื่องน้ำหนักกล้องที่ต้องถือด้วยมือตลอดเวลา และขาตั้งยังมีส่วนสำคัญอื่นๆ อีกหลายอย่างเช่น การจัดภาพไม่ให้ภาพเอียง หรือการถ่ายภาพแนวยาวแบบพาโนรามา เป็นต้น ในกรณีที่ไม่สะดวกในการใช้ขาตั้งกล้องแบบ 3 ขา คุณอาจจะเลือกใช้ขาตั้งเดี่ยว หรือโมโนพอดก็ได้ อย่างน้อยก็ทำให้การถ่ายภาพด้วยความ เร็วชัตเตอร์ต่ำๆ ได้ความคมชัดดีกว่าการถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือเปล่า

อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นในการถ่ายภาพที่ผมต้องขอแนะนำเช่น ฟิลเตอร์ C-PL หรือโพราไรซ์ ฟิลเตอร์ชนิดนี้จะมีสองชั้น ทางด้านหน้าจะปรับหมุนได้ เมื่อสวมฟิลเตอร์ที่หน้าเลนส์ ปรับหมุนฟิลเตอร์ แล้วดูผลในช่องมองภาพ คุณจะเห็นว่า บริเวณที่เป็นแสงสะท้อนจากวัตถุที่ไม่ใช่โลหะ เช่น ไม้ ก้อนหิน ใบไม้ กระจก หรืออื่นๆ แสงสะท้อนจะหายไป ทำให้ภาพที่ได้มีสีสันอิ่มตัวและสวยงามมากขึ้นทันที (แต่จะไม่ได้ผลหากไม่มีแสงสะท้อนที่วัตถุ) หากใช้ฟิลเตอร์ C-PL กับการถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีท้องฟ้าสีฟ้า จะทำให้ท้องฟ้ามีสีเข้มขึ้น หรือภาพวิวทะเล แสงสะท้อนที่ผิวน้ำทะเลจะลดลง ทำให้ทะเลมีสีสันที่สวยงามมากขึ้น ข้อเสียของฟิลเตอร์ C-PL คือ ปริมาณแสงจะลดลง 2 สตอป ส่งผลให้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำลง หรือต้องเปิดรูรับแสงกว้างขึ้น รวมทั้งคุณภาพจะลดลงบ้างขึ้นอยู่กับคุณภาพและการเคลือบผิวที่ฟิลเตอร์ ส่วนฟิลเตอร์อื่นๆ ที่จำเป็นเช่น ฟิลเตอร์ ND สำหรับลดลง เพื่อให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำ สำหรับถ่ายภาพบางอย่างเช่น ภาพน้ำตก ที่ต้องการความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เป็นต้น หรือ ฟิลเตอร์กราดูเอท ส่วนบนสีเทาหรือสีอื่นๆ ส่วนล่างใสไม่มีสี ช่วยลดแสงส่วนที่เป็นท้องฟ้า ทำให้ภาพมีค่าแสงเฉลี่ยใกล้เคียงกันระหว่างส่วนบนและส่วนล่าง เหมาะสำหรับถ่ายภาพในสภาพแสงที่แตกต่างกันมาก เช่น ภาพทิวทัศน์ขณะพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก หากต้องการถ่ายภาพฟอร์แมท RAW และกล้องมีความละเอียดสูง คุณอาจจะจำเป็นต้องใช้เมมโมรี่การ์ดที่มีความจุสูง หรืออุปกรณ์สำรองไฟล์ภาพ ที่มีฮาร์ดดิสก์ความจุสูงเช่น 160 หรือ 250 GB และอย่าลืมแบตเตอรี่สำรอง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะถ่ายภาพได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องแบตเตอรี่หมด ส่วนกระเป๋ากล้อง ควรเลือกชนิดที่ตัดเย็บ อย่างดี ทนทาน ที่สำคัญคือกันน้ำได้ ถ้าเป็นแบบเป้สะพายหลังก็จะสะดวกคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

เทคนิคการวัดแสง เทคนิคการถ่ายภาพทิวทัศน์ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเสริมเพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามและสมบูรณ์ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ เรื่องการวัดแสง ทำอย่างไรให้ภาพได้รับปริมาณแสงที่พอดี ไม่มาก และไม่น้อยเกินไป โดยทั่วไปต้องการให้ภาพมีความสว่างและชัดเจนใกล้เคียงกับการมองดูด้วยตาเปล่า แต่ในสภาพแสงและสภาพแวดล้อมบางอย่าง จำเป็นต้องวัดแสงให้สว่างหรือมืดกว่าค่าแสงที่กล้องระบุไว้ เรียกว่า การชดเชยแสง เช่น การถ่ายภาพทิวทัศน์ชายทะเลที่มีชายหาดสีขาว ถ่ายภาพทิวทัศน์ทะเลหมอกจากยอดดอย หรือภาพย้อนแสงขณะพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก เป็นต้น ซึ่งเทคนิคการถ่ายภาพทิวทัศน์เหล่านี้จะได้กล่าวถึงต่อไป ลำดับต่อมาคือ การควบคุมระยะชัดลึก ตั้งแต่สิ่งที่อยู่ใกล้ที่สุด ไปจนถึงไกลสุด (อินฟินิตี้) โดยสิ่งที่มีผลเกี่ยวกับระยะชัดลึกคือ รูรับแสง หากเปิดรูรับแสงกว้าง เช่น f/2.8 หรือ f/4 ระยะชัดลึกก็จะน้อย แต่ถ้าเปิดรูรับแสงแคบ เช่น f/16 หรือ f/22 ระยะชัดลึกก็จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ด้วยตามที่ได้กล่าวไปแล้วในเรื่องของเลนส์

หากใช้เลนส์มุมกว้างมากๆ เช่น 14 หรือ 18 มม. ไม่จำเป็นต้องใช้รูรับแสงแคบสุดของเลนส์ การใช้รูรับแสง f/11 หรือ f/16 ก็จะได้ระยะชัดลึกตั้งแต่ใกล้สุดเพียง 1-2 เมตร ไปจนถึงไกลสุด อย่าลืมว่า ยิ่งใช้รูรับแสงแคบมากเท่าใด ความ เร็วชัตเตอร์ก็จะลดต่ำลง ตามลำดับ และความเร็วชัตเตอร์ต่ำก็อาจจะส่งผลในเรื่องของความคมชัดได้ อีกประการหนึ่งคือ เลนส์ส่วนใหญ่ คุณภาพความคมชัดจะดีที่สุด เมื่อใช้ รูรับแสงกลางๆ เช่น f/8 หรือ f/11 การใช้รูรับแสงแคบสุด แม้ว่าจะได้ระยะชัดลึกมาก แต่ความคมชัดก็จะลดลงตามไปด้วย จึงควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ใช้รูรับแสง f/11 แล้วปรากฏว่าภาพคมชัดตั้งแต่ไกลสุดจนถึงใกล้สุดประมาณ 5 เมตร สิ่งที่อยู่ใกล้มากกว่านั้นไม่คมชัด แบบนี้ต้องปรับรูรับแสงให้เล็กลงอีก 1 สตอป เป็น f/16 แล้วลองถ่ายภาพตรวจสอบระยะชัดลึกของภาพใหม่ มีเคล็ดลับง่ายๆ อย่างหนึ่งในการควบคุมระยะชัดลึกคือ ให้เลือกจุดโฟกัสตรงกลางระหว่างวัตถุที่อยู่ใกล้สุดจนถึงไกลสุด เนื่องจากระยะชัดลึกจะเพิ่มขึ้นมาทางด้านหน้าและไปทางด้านหลังจากจุดโฟกัสนั่นเอง



วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

รวมภาพอาร์ตๆ























10 เคล็ดลับการถ่ายภาพสวย สำหรับมือสมัครเล่น

1. ย่อตัวให้อยู่ในระดับเดียวกับสิ่งที่จะถ่าย


- ถือกล้องในระดับเดียวกับระดับสายตาของแบบ เพื่อเก็บภาพที่แสดงถึงพลังของการเพ่งมองที่น่าดึงดูด และรอยยิ้มที่น่าหลงใหล
- ถ้าแบบเป็นเด็กหรือสัตว์เลี้ยง เพียงย่อตัวลงให้อยู่ระดับเดียวกับพวกเขาเมื่อถ่ายภาพ
- แบบไม่ต้องมองตรงมายังกล้อง มองไปมุมใดก็ได้ คุณก็สามารถเก็บอารมณ์ของแบบที่น่าประทับใจได้

2. อย่าให้ฉากหลังดูรุงรัง


- ก่อนถ่ายภาพ สังเกตมองพื้นที่หลังแบบว่าเรียบหรือรกรุงรัง
- ระวังกิ่งไม้ที่อาจจะอยู่ด้านหลังศีรษะของแบบ
- ฉากหลังที่รก ระเกะระกะน่ารำคาญ ในขณะที่ฉากหลังเรียบจะช่วยเน้นให้แบบโดดเด่น

3. ใช้แฟลชเมื่อถ่ายกลางแจ้ง

- แม้จะถ่ายรูปกลางแจ้ง การใช้แฟลชก็ยังช่วยให้ภาพดูดีขึ้นได้
- ขณะแสงแดดจ้า การใช้แฟลชจะช่วยทำให้เงาดำใต้ตาและใต้จมูกสว่างขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่พระอาทิตย์อยู่เหนือศีรษะหรืออยู่ด้านหลังแบบ
- ในวันที่ฟ้ามีเมฆ การใช้แฟลชจะทำให้หน้าของแบบกระจ่างสดใสขึ้น และช่วยให้แบบโดดเด่นจากฉากหลัง
4. เข้าไปใกล้อีกนิด


- เพื่อสร้างรูปถ่ายที่ประทับใจ ขยับเข้าไปอีกและทำให้แบบอยู่เต็มภาพ
- การขยับเข้าใกล้แบบ หรือใช้ซูมจนกระทั่งแบบเต็มช่องมองภาพ จะช่วยให้คุณตัดฉากหลังที่จะลดความโดดเด่นของแบบออกไป และยังแสดงรายละเอียดของแบบได้เต็มตาด้วย
- สำหรับแบบขนาดเล็ก เลือกใช้โหมด "มาโคร" หรือ "ดอกไม้" เพื่อจะได้ภาพโคลสอัพ (close-ups) ที่คมชัด
5. ลองถ่ายภาพในแนวตั้ง


- มีแบบมากมายที่ดูสวยงามกว่าหากถ่ายในแนวตั้ง จากหอไอเฟิลไปจนถึงรูปถ่ายเพื่อนของคุณ
- ทดลองตั้งกล้องเพื่อถ่ายรูปแนวตั้งบ้าง
6. ล็อคโฟกัสเพื่อให้ได้ภาพคมชัด


- การล็อคโฟกัสเพื่อให้ได้ภาพคมชัดของแบบที่ไม่อยู่กลางภาพ ทำได้ดังนี้
1. เล็งแบบให้อยู่ตรงกลางภาพ
2. กดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งเพื่อให้กล้องโฟกัสที่แบบ
3. จัดองค์ประกอบภาพใหม่ (โดยยังกดชัตเตอร์ค้างอยู่)
4. กดชัตเตอร์ถ่ายภาพ
7. ไม่จำเป็นต้องอยู่กลางภาพ


- เพิ่มชีวิตชีวาให้ภาพของคุณอย่างง่ายดาย โดยการเลื่อนแบบออกจากบริเวณกลางภาพ
- ลองจินตนาการตาราง โอเอ็กซ์ (มีเก้าช่อง) ในช่องมองภาพและวางแบบตรงจุดตัดของเส้น
- เนื่องจากกล้องส่วนใหญ่จะโฟกัสตรงกลางภาพ ดังนั้น อย่าลืมใช้เคล็ดการล็อคโฟกัสก่อนที่จะจัดกรอบภาพใหม่
8. รู้ระยะแฟลช


- ภาพถ่ายที่ได้จากการถ่ายแบบเกินระยะทำการของแฟลช จะมืดเกินไป
- กล้องส่วนมากจะมีระยะทำการแฟลชแค่ 10 ฟุต หรือประมาณ 4 ก้าว ควรอ่านคู่มือเพื่อให้แน่ใจ
- ถ้าแบบที่ต้องการถ่ายอยู่ห่างจากกล้องเกิน 10 ฟุต ภาพถ่ายที่ได้อาจมืดเกินไป
9. สังเกตแสง-เงา

- แสงที่ดีทำให้ได้ภาพถ่ายที่ดี ควรศึกษาผลของแสงในภาพถ่ายของคุณ
- สำหรับการถ่ายภาพคน ควรเลือกแสงนุ่มๆ ของวันที่มีเมฆ หลีกเลี่ยงแสงแดดที่ส่องตรงศีรษะ เพราะจำเกิดเงาดำเข้มบนใบหน้า
- สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ควรใช้แสงเงาและสีของแสงแดดในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็น
10. เป็นผู้กำกับ


- ใช้เวลาเพิ่มอีกสักนิดในการถ่ายภาพ เสมือนคุณเป็นผู้กำกับภาพ ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ถ่ายภาพ
- เพิ่มของประกอบฉาก (Prop) หรือจัดแบบใหม่ หรือลองมุมกล้องที่ต่างจากเดิม
- ให้แบบมาอยู่ด้วยกันและปล่อยให้พวกเขาแสดงบุคคลิกของตัวเองออกมา และคุณจะเห็นว่าภาพถ่ายของคุณดูดีกว่าเดิมอย่างมหัศจรรย์